วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พ.ศ. ๒๒๗๗ - พ.ศ. ๒๓๒๕ ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๑๑ - พ.ศ. ๒๓๒๕) เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวแห่งกรุงธนบุรี ทรงมีพระนามเดิมว่า สิน เสด็จพระราชสมภพในวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๐๙๖ เวลาประมาณ ๕ โมงเช้า ตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗ ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ณ วันพุธ เดือนอ้าย แรม ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๐ ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ รวมสิริดำรงราชสมบัติ ๑๕ ปี เสด็จสวรรคตในวันเสาร์เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ จ.ศ.๑๑๔๔ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ รวมพระชนมพรรษา ๔๘ พรรษา 
มีหนังสือพงศาวดารได้กล่าวไว้ว่า ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีชาวจีนแต้จิ๋วคนหนึ่งนามว่า ไหฮอง (ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ระบุว่า ไหฮอง ไม่ใช่ชื่อบุคคล แต่เป็นชื่อตำบลในมณฑลกวางตุ้ง) ได้เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย มีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนพัฒตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้บ้านของเจ้าพระยาจักรี สมุหนายก ครั้นเวลาล่วงมาถึง ๕ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๗๗ ขุนพัฒมีบุตรชายคนหนึ่ง เกิดแต่ นางนกเอี้ยง ทารกคนนี้คลอดได้ ๓ วัน มีงูเหลือมใหญ่เลื้อยเข้าไปขดรอบตัวทารก เป็นทักขิณาวัฏ ขุนพัฒผู้เป็นบิดาเกรงว่าเรื่องนี้อาจลางร้ายแก่สกุล จึงยกบุตรคนนี้ให้แก่เจ้าพระยาจักรี แล้วเจ้าพระยาจักรีได้เลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม และตั้งแต่เจ้าพระยาจักรีได้เด็กน้อยคนนี้มา ลาภผลก็เกิดมากมูลพูนเพิ่มมั่งคั่งขึ้นแต่ก่อน เจ้าพระยาจักรีจึงกำหนดเอาเหตุนี้ขนานนามว่าให้ว่า สิน ส่วนจดหมายเหตุโหรได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๐๙๖ เวลาประมาณ ๕ โมงเช้า ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗